fbpx

ความเป็นมามูลนิธิ

มูลนิธิ เอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 และได้รับอนุมัติจดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551 โดยได้รับเกียรติจาก คุณสรสิทธิ์ สุนทรเกศ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ตอบรับเป็นประธานกรรมการ พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆอีกจำนวน 4 ท่าน  ซึ่งขณะนั้นมูลนิธิฯ ได้ทำสัญญาเช่าสำนักงานบริหารภายในบริเวณมูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 384 หมู่ 6 ถนนสุขุมวิท นาเกลือ บางละมุง  เพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่

วัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งมูลนิธิ เอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย คือเป็นองค์กรหาทุนเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน และผู้ด้อยโอกาส ในงานการกุศลของมูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา และงานโครงการศูนย์เด็กเร่ร่อนของคุณพลิศร โนจา หรือที่ใคร ๆ  รู้จักดีในชื่อครูจา  ซึ่งขณะนั้นทางมูลนิธิฯ จัดตั้งศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาเด็กขึ้นที่ อ.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี โดยมีผู้สนับสนุนหลักอย่างคุณอีวาน ดีทริส ประธานกรรมการ Human Help Network eV.  และจากองค์กรภาคเอกชน และภาคประชาชนหลายฝ่าย

ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพ และพัฒนาเด็ก ก่อตั้งขึ้นประมาณปลายปี พ.ศ. 2551 โดยมีครูจาเป็นผู้อำนวยการศูนย์คนแรก  จากนั้นประมาณสองปีครูจาก็ได้แยกตัวออกไปจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยไม่ร่วมดำเนินงานด้านการคุ้มครองและพัฒนาเด็กกับทางมูลนิธิ เอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย อีกต่อไป เหตุเพราะมีแนวทางการทำงานและนโยบายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ยังคงเป็นเครือข่ายและดำเนินงานด้านการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสต่อไป โดยต่างมีทีมงานและการบริหารงานไม่ขึ้นต่อกัน

ในเวลาต่อมา คุณอภิฐา เรืองเดช (ครูแก้ว) ก็ได้รับการทาบทามให้เข้ารับหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนที่ 2 และทำงานอยู่เกือบ 2 ปี  คุณศิริกาญจน์ ธนวัฒน์เดชากุล (ครูเปิ้ล)  จึงเข้ามาสานต่องานอีกหนึ่งปี ก่อนที่คุณรัชฎา ชมจินดา (ป้าต๋อย) ผู้อำนวยการมูลนิธิ เอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย ตัดสินใจเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ และได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพ และพัฒนาเด็กเป็น สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก บ้านเอื้ออารี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในปี 2552 มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย ได้ก่อตั้งศูนย์พักพิงเด็ก เพื่อเป็นศูนย์แรกรับสำหรับเด็กเร่ร่อน และเด็กด้อยโอกาส พร้อมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในกรณีที่ฉุกเฉิน โดยมูลนิธิฯ ได้ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ ขนาดสองชั้น บนถนนพัทยาสายสาม ใกล้กับแยกพัทยาใต้ เพื่อสะดวกต่อการให้ความช่วยเหลือช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนข้างถนนในเมืองพัทยา ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก โดยมีนายประพันธ์   ค้างคีรี (ครูโต) เป็นผู้จัดการศูนย์พักพิงเด็กคนแรก จากนั้นในปี 2555 นายกัจน์ณัฎฐ์  มีมานัส (ครูเอ้) เป็นผู้จัดการศูนย์ฯ คนที่สอง จนปลายปี 2557 นายพิรุณ น้อยอิ่มใจ      (ครูน้อย) เป็นผู้จัดการคนที่ 3 จนถึงปัจจุบัน และอีกหนึ่งปีต่อมาศูนย์พักพิงเด็ก ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์พักพิงเด็ก บนที่ดินของมูลนิธิฯ ระหว่างถนนสุขุมวิทต่อกับถนนพัทยาสายสาม จึงได้ย้ายสำนักงานมายังศูนย์พักพิงเด็กในปัจจุบัน (อาคารสีชมพู) ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 384/127 ถนนสุขุมวิท 34เชื่อมต่อกับถนนพัทยาสายสาม ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองพัทยา ที่สะดวกต่อการเข้าถึงของเด็กๆ และครอบครัวที่ต้องการรับความช่วยเหลือ  

ในช่วง 5-6 ปีแรกของการก่อตั้งมูลนิธิฯ คณะกรรมการและผู้บริหารทุกคนต่างมุมานะ อุตสาหะ และอุทิศตน เพื่อสร้างองค์กรด้วยการสร้างทีมงานและวิ่งเต้นหาเงินทุนสนับสนุนเพื่อจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านของเด็กๆ  โดยมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ADM Capital Foundation, Hong Kong จำนวน 7.5 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อที่ดินหลังวัดห้วยใหญ่จำนวน 1 แปลงพื้นที่กว่า 10  ไร่ ภายใต้การทำสัญญาให้เช่าใช้พื้นเป็นเวลา 10 ปีในราคาปีละ 100.- บาท/ปี โดยมูลนิธิ ฯ สามารถซื้อคืนที่ดินได้ในราคาต้นทุนในช่วงระยะเวลาสัญญา  และนับเป็นความโชคดีที่ทางมูลนิธิ ฯสามารถหาเงินทุนสนับสนุนหลักได้จากทางเยอรมันเพื่อซื้อที่ดินทั้งแปลงและจดทะเบียนภายใต้ชื่อมูลนิธิ เอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทยภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีหลังการก่อตั้ง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยทุน GTIP จำนวนเกือบ 10 ล้านบาท เงินสนับสนุนการก่อสร้างบ้านเด็กชาย 2 หลังแรกจากท่านเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยในขณะนั้น และอีกหนึ่งหลังจากท่านเอกอัครราชทูตสวิสเซอร์แลนด์ในขณะนั้น อีกทั้งได้มีนักธุรกิจใจบุญชาวเยอรมันและผู้อุปการะคุณอื่น ๆ อีกมากมายให้การสนับสนุนค่าก่อสร้างบ้านเด็กชาย-หญิง จนกระทั่งมีจำนวน 10 หลังในปัจจุบัน

ตลอดระยะสิบปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย มุ่งมั่น ทำงานเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กยากไร้ด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อนข้างถนน เด็กที่ถูกกระทำทารุณทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ รวมไปถึงเด็กที่ตกอยู่ในสภาวะครอบครัวแตกแยก และไร้ที่พึ่ง ฯลฯ ซึ่งในแต่ละปีมีเด็กไทยได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆของมูลนิธิฯมากมาย เช่น โครงการทุนการศึกษา โครงการทุนช่วยเหลือครอบครัว และการดำเนินงานเพื่อการปกป้อง คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเด็กด้อยโอกาสผ่านกระบวนการทำงานของนักจิตวิทยา พยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพของมูลนิธิฯ

อย่างไรก็ตามผลของการพัฒนาทางเศรฐกิจ และสังคมในประเทศไทย โดยการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ประชากรแรงงามข้ามชาติ (เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว) ย้ายถิ่นฐานเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ งานก่อสร้าง งานธุรกิจการประมง รวมไปถึงงานบริการอื่นๆ โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของไทย ซึ่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ก็เป็นเป้าหมายหลักที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะเข้ามาขายแรงงานในธุรกิจก่อสร้าง และงานบริการอื่นๆ โดยสถิติพบว่ามีแรงงานข้ามชาติมากกว่าสองหมื่นคนในแต่ละปีเข้ามาทำงานในพื้นที่ และในจำนวนนี้มีบุตรหลานแรงงานติดตามเข้ามาด้วยมากกว่า 2,000 คน เด็กๆ เหล่านี้ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อสวัสดิภาพ เด็กบางคนต้องออกมาเร่ร่อน ขอทาน และเก็บขยะเพื่อหาอาหารเลี้ยงปากท้องของตนเองในช่วงกลางวันเพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน เด็กข้ามชาติเกือบทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานของรัฐบาลไทยได้ เช่น สิทธิทางการศึกษา สิทธิการรักษารักษาพยาบาล และการมีสุขภาวะที่ดี เนื่องจากปัญหาความยากจน การขาดหลักฐานแสดงบุคคล รวมไปถึงอัตราการโยกย้ายถิ่นฐานค่อนข้างสูง

มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย จึงได้ขยายขอบข่ายการทำงานสู่กลุ่มเด็กข้ามชาติ ชาวกัมพูชา เมียนมาร์ และลาว ที่อาศัยอยู่ตามแคมป์คนงานก่อสร้างต่าง ๆ ในเขตเมืองพัทยา  โดยได้จัดตั้งทีมภาคสนาม เพื่อลงพื้นที่ไปให้ความรู้เด็กๆในแคมป์คนงานต่างๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะชีวิต และนำความรู้ด้านการป้องกันตนเองจากการถูกกระทำทารุณกรรมต่าง ๆ การตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณี เสี่ยงต่อการถูกชักนำเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ฯลฯ โดยมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนรถตู้โมบายเคลื่อนที่ (Mobile Training Unit) หรือ MTU จากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นผ่านทางสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime UNODC) รวมถึงได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมจากสถานเอกอัครราชทูตออสเตรียและสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยอีกด้วย   

ภายหลังจากทีมภาคสนามรถโมบายเคลื่อน (MTU) ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเด็กตามแคมป์คนงานก่อสร้างและแหล่งสลัมได้ประมาณหนึ่งปีเศษ และได้รับผลตอบรับอย่างดียิ่ง ทางมูลนิธิ ฯจึงได้พัฒนาการให้ความช่วยเหลือเด็กข้ามชาติกลุ่มนี้ ด้วยการจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน ขึ้นภายในบริเวณศูนย์พักพิงเด็ก เพื่อรองรับเด็กข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ให้เข้ามารับบริการในศูนย์การเรียนแห่งนี้ โดยทางมูลนิธิฯ มีบริการรถรับส่งเด็กจากแคมป์คนงานต่างๆ ในเขตเมืองพัทยา เพื่อให้เด็กข้ามชาติเหล่านี้ ได้เข้ามารับการเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิตในวัยเด็กอย่างถูกต้อง และปลอดภัย เด็กๆได้มีโอกาสศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ รวมไปถึงภาษาถิ่นกำเนิดของตน กล่าวคือภาษากัมพูชาและเมียนมาร์ โดยทางมูลนิธิฯ ดำเนินการจัดหาครูอาสาสมัครจากประเทศกัมพูชาและเมียนมาร์ ที่ผ่านรับรองด้านคุณวุฒิและจัดทำใบอนุญาตการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาสอนหนังสือและดูแลเด็กๆเหล่านี้  นอกจากนั้นเด็กๆยังได้รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ รวมไปถึงการตรวจสุขภาพอนามัยเป็นประจำจากกุมารแพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งทางมูลนิธิ ฯ ได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานหลักในช่วง 2 ปีแรกของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้อาเซียน จากสโมสรโรตารี่อิสเทิร์นซีบอร์ด สโมสรโรตารี่ดอลฟินอินเตอร์เนชั่นแนล สโมสรโรตารี่พิจแน็กเกอร์-นูทดร๊อป สโมสรโรตารี่แวนกูดเซิน ร่วมกับโรตารี่สากล

10ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย มีการพัฒนา และการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยสะท้อนได้จากจำนวนเด็กๆ ที่ผ่านเข้ามารับการคุ้มครองและพัฒนาด้านการศึกษา ของสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก บ้านเอื้ออารี จำนวนกว่า 300 คน สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวแล้วกว่าครึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ภายในความคุ้มครอง จำนวน 75 คน ทุกคนได้รับการศึกษาตามความถนัด โดยมีเด็กจบการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวะศึกษา ระดับปริญญาตรี  มีงานทำสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ในส่วนของศูนย์พักพิงเด็ก มีเด็กไทยที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆของศูนย์ มากกว่า 250 คน และมีเด็กข้ามชาติเข้ามาเรียนในศูนย์การเรียนรู้อาเซียน มากกว่า 500 คน นอกจากนั้นยังมีเด็กในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัด โรงเรียน และสถานสงเคราะห์ ที่ได้รับความรู้เรื่องสิทธิเด็กและการป้องกันตนเองผ่านทางการทำกิจกรรมของทีมงานภาคสนาม มากกว่า 4,000 คน  

จากผลงานดังกล่าวทำให้ มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย ได้รับยอมรับทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ ว่าเป็นองค์พัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง ผ่านการการันตีผลงานต่างๆ อาทิ ปี 2556  มูลนิธิ เอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวด เอ็น จี โอ อว๊อคส์ 2013 ที่มีผู้เข้าประกวดกว่า 110 องค์กรทั่วประเทศ  ในปี 2558 ได้รับการจัดระดับด้านการบริหารงานดีเด่นและมีความโปร่งใสใน ระดับห้าดาว จากสมาคมกิฟวิ่งแบค ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนั้นล่าสุดปี ในปีค.ศ. 2560  มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย รับรางวัลคัดเลือกเข้ารอบ 3 องค์กรสุดท้าย (The FinalistMost Innovative Campaign) จาก 62 องค์กรทั่วเอเชียในการแข่งขัน โชเชียลอิมแพ๊ค อว๊อดส์ จากการคิดประดิษฐ์นวัตกรรมเกมการ์ดพลังป้องกันเด็ก (Child Protection Card Game) ซึ่งออกแบบโดย นายพิรุณ น้อยอิ่มใจ ผู้จัดการศูนย์พักพิงเด็ก จนได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จากสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดชลบุรี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อนุมัติเงินทุนสนับสนุนเพื่อผลิตเกมการ์ดพลังป้องกันเด็กและจัดการอบรม เพื่อขยายผลไปสู่โรงเรียน ชุมชนและองค์กรสังคมสงเคราะห์อื่นๆ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดเด็ก และสร้างชุมชนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

ความก้าวหน้าและการพัฒนาทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น จะไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้หากปราศจากการสนับสนุนจากองค์กร และท่านผู้มีอุปการะคุณทุกท่าน ผู้มีส่วนช่วยให้อนาคตกับเด็กและเยาวชนที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านทางการทำงานของมูลนิธิฯ และในวาระครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งมูลนิธิ เอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย ขอขอบพระคุณทุกท่านและทุกภาคส่วน ที่ได้ให้การสนับสนุนงานของมูลนิธิฯ จนประสบความสำเร็จตลอดมา และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านในโอกาสต่อๆไป